ประวัติกองลูกเสือโรงเรียนวัดราชาธิวาส

ประวัติกองลูกเสือราชาธิวาส

           เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระชนมายุได้ 13 พรรษา ได้เสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ทวีปยุโรป ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นั้น ได้ทรงทราบเรื่องการสู้รบเพื่อรักษาเมืองมาฟิคิง (Mafeking) ของ ลอร์ดเบเดน โพเอลล์ (Lord Baden Powell) ซึ่งได้ตั้งกองทหารเด็กเป็นหน่วยสอดแนมช่วยรบในการรบกับพวกบัวร์ (Boar) จนประสบผลสำเร็จ และได้ตั้งกองลูกเสือขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก ที่ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2450 เมื่อพระองค์เสด็จนิวัติสู่ประเทศไทย ก็ได้ทรงจัดตั้งกองเสือป่า (Wild Tiger Corps) ขึ้น เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2454 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกหัดให้ข้าราชการและพลเรือนได้เรียนรู้วิชาทหาร เพื่อเป็นคุณประโยชน์ต่อบ้านเมือง รู้จักระเบียบวินัย มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ต่อจากนั้นอีก 2 เดือน ก็ได้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทยขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2454 ด้วยทรงมีพระราชปรารภว่า เมื่อฝึกผู้ใหญ่เป็นเสือป่า เพื่อเตรียมพร้อมในการช่วยเหลือชาติบ้านเมืองแล้ว เห็นควรที่จะมีการฝึกเด็กชายปฐมวัยให้มีความรู้ทางเสือป่าด้วย เมื่อเติบโตขึ้นจะได้รู้จักหน้าที่และประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง 

 

                    

           จากนั้น ทรงตั้งกองลูกเสือกองแรกขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (โรงเรียนวชิราวุธ ในปัจจุบัน) และจัดตั้งกองลูกเสือตามโรงเรียน ต่าง ๆ ให้กำหนดข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือขึ้น รวมทั้งพระราชทาน คำขวัญให้ลูกเสือว่า “เสียชีพ อย่าเสียสัตย์ ” หลังจากนั้นโรงเรียนวัดราชาธิวาสได้ก่อตั้งกองลูกเสือขึ้น ซึ่งในขณะนั้นสำนักงานลูกเสือแห่งชาติยังไม่มีระเบียบข้อบังคับต่างๆ ต่อมาในปี พ.ศ. 2506 ได้มีการจัดตั้งลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ขึ้นในประเทศไทย ซึ่งมีทั้งหมด 8 กองด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ กองลูกเสือราชาธิวาส ในขณะนั้นได้มีการแปลระเบียบข้อบังคับต่างๆของลูกเสืออังกฤษ และนำมาทดลองใช้ในระบบต่างๆ ของลูกเสือ หลังจากที่มีระเบียบข้อบังคับของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ จึงได้มีการจดทะเบียนการจัดตั้งกองลูกเสือ ซึ่งกองลูกเสือราชาธิวาสได้รับการประกาศจัดตั้งในราชกิจจานุเบกษา เป็นกองลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่กรุงเทพพระมหานคร ลำดับที่ 19 ของประเทศ สำหรับการฝึกลูกเสือตั้งแต่เริ่มแรกนั้น เน้นการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ฝึกความคิดสร้างสรรค์ในการบริหารจัดการตนเอง มีการประชุมนายหมู่เพื่อวางแผนในการเรียนรู้และการทำกิจกรรมต่างๆ โดยมีครูเป็นผู้ให้คำปรึกษา แนะนำ ดังนั้นจึงเป็นการฝึกการวางแผน การตัดสินใจภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ส่งผลให้เกิดการมีระเบียบวินัยในตนเองโดยไม่มีใครบังคับ

Visitors: 70,481