แบบทดสอบการตั้งปัญหา

โรงเรียนวัดราชาธิวาส

แบบทดสอบ  เรื่อง  การตั้งปัญหาในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์

---------------------------------------------------------------------------------------------

คำชี้แจง                                          

1.           แบบทดสอบฉบับนี้เป็นข้อสอบแบบปรนัย  จำนวน  10  ข้อ 

2.           เลือกคำตอบที่ถูกที่สุดเพียงข้อเดียว  เขียนลงในช่องทางตอบรับด้านล่าง

3.         ก่อนส่งคำตอบให้นักเรียนตรวจสอบ  เลขที่  และกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน

ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง

การตั้งประเด็นคำถามหรือปัญหา  ตั้งสมมติฐาน  การวางแผนการสำรวจตรวจสอบ  การเลือกเทคนิควิธีการวัสดุอุปกรณ์  เครื่องมือที่เหมาะสม  การเก็บรวบรวมข้อมูล  การวิเคราะห์  สรุปผลการสำรวจตรวจสอบ  การเขียนรายงานและการนำเสนอผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์ 

---------------------------------------------------------------------------------------------




1.     สมชายต้องการนำเปลือกไข่ที่เผาแล้วไปทดลองกำจัดมดแดง  มดคันไฟ  และมดไร  ข้อใดน่าจะเป็นปัญหาในการศึกษาของสมชาย

         ก.   ชนิดของมดต่างกันประสิทธิภาพในการกำจัดจะต่างกันหรือไม่

         ข.   ประสิทธิภาพของเปลือกไข่ในการกำจัดมดมีผลต่อชนิดของมดหรือไม่

         ค.   ชนิดของมดมีผลต่อประสิทธิภาพของเปลือกไข่ในการกำจัดมดหรือไม่

         ง.   ชนิดชองเปลือกไข่มีผลต่อประสิทธิภาพในการกำจัดมดชนิดต่างๆหรือไม่

2.    สมภพต้องการศึกษาอัตราการออกดอกของกล้วยไม้ที่ขึ้นอยู่กับชนิดของปุ๋ยหมัก  สมภพควรจะตั้งปัญหาในการศึกษาว่าอย่างไร

         ก.   อัตราการออกดอกของกล้วยไม้ขึ้นอยู่กับชนิดของปุ๋ยหมักหรือไม่

         ข.   อัตราการออกดอกของกล้วยไม้มีผลต่อชนิดของปุ๋ยหมักหรือไม่

         ค.   ชนิดของปุ๋ยหมักมีผลต่อขนาดของช่อดอกของกล้วยไม้หรือไม่

         ง.   ชนิดของปุ๋ยหมักต่างกันขนาดของช่อดอกของกล้วยไม้จะต่างกันหรือไม่

3.   สมพงษ์นำเนื้อวัว  เนื้อหมู  และเนื้อไก่  ไปหมักด้วยยางมะละกอ  แล้วทดสอบการเปื่อยยุ่ยของเนื้อชนิดต่างๆ  สมพงษ์ต้องการทำการทดลองเพื่อตอบปัญหาใด

         ก.   การเปื่อยยุ่ยของเนื้อสัตว์ขึ้นอยู่กับยางมะละกอหรือไม่

         ข.   การเปื่อยยุ่ยของเนื้อสัตว์ขึ้นอยู่กับปริมาณยางมะละกอหรือไม่               

         ค.   การเปื่อยยุ่ยของเนื้อสัตว์เมื่อหมักด้วยยางมะละกอขึ้นอยู่กับชนิดของเนื้อสัตว์หรือไม่

         ง.   ชนิดของเนื้อสัตว์ขึ้นอยู่กับการเปื่อยยุ่ยของเนื้อสัตว์เมื่อหมักด้วยยางมะละกอหรือไม่

4.    สมศรีต้องการเพาะโกศลให้ใบใหญ่และมีสีสวย  จึงทดลองแบ่งโกศลเป็น  3  ชุด  ชุดที่  1  วางไว้ในที่ที่มีแสงปกติ  ชุดที่ 2  วางไว้ในบริเวณที่มีตาข่ายกรองแสง  50  %  และชุดที่ 3  วางไว้ในบริเวณที่มีตาข่าย  กรองแสง  70  %  โดยทำการทดลองเป็นเวลา  25  วัน  ทำการวัดขนาดของใบและสังเกตเปรียบเทียบสีของใบโกศลในแต่ละชุดการทดลอง  สมศรีทำการทดลองเพื่อตอบปัญหาใด

         ก.   การให้แสงมีผลต่อขนาดและความเข้มสีของใบโกศลหรือไม่

         ข.   สีของแสงมีผลต่อขนาดและความเข้มสีของใบโกศลหรือไม่

         ค.   ความเข้มของแสงมีผลต่อขนาดและความเข้มสีของใบโกศลหรือไม่

         ง.   ระยะเวลาในการให้แสงมีผลต่อขนาดและความเข้มสีของใบโกศลหรือไม่

5.   สมพงษ์ทำการทดลองต่อโดยการนำยางมะละกอมาผสมกับน้ำในอัตราส่วน  1:1 ,  1:2  และ 1:3  จากนั้นนำแต่ละอัตราส่วนไปหมักเนื้อวัวในปริมาณที่เท่าๆ กัน เป็นเวลา  30  นาที  แล้วทดสอบการเปื่อยยุ่ยของเนื้อวัว  การทำการทดลองครั้งนี้สมพงษ์ต้องการตอบปัญหาในข้อใด

         ก.   ปริมาณของยางมะละกอต่างกันการเปื่อยยุ่ยของเนื้อวัวจะต่างกันหรือไม่

         ข.   ความเข้มข้นของยางมะละกอต่างกันการเปื่อยยุ่ยของเนื้อวัวจะต่างกันหรือไม่

         ค.   ระยะเวลาในการหมักด้วยยางมะละกอต่างกันการเปื่อยยุ่ยของเนื้อวัวจะต่างกันหรือไม่

         ง.   อัตราส่วนระหว่างเนื้อวัวกับยางมะละกอต่างกันการเปื่อยยุ่ยของเนื้อวัวจะต่างกันหรือไม่

6.    ปรีชากับปราณีไปซื้อกล้วยที่ตลาด  ทั้งสองสังเกตเห็นว่ากล้วยไม้พันธุ์หวายที่แม่ค้าขายอยู่นั้นมีสีส้ม    สีฟ้าและสีเขียว  จึงถามแม่ค้าว่าเป็นสีธรรมชาติหรือไม่  แม่ค้าจึงบอกว่าเป็นสีย้อมจากสีผสมอาหาร  ซึ่งทั้งสองคนสังเกตว่ากล้วยไม้สีฟ้ามีสีที่เข้มกว่าสีอื่นๆ  จึงตั้งสมมติฐานว่า  กล้วยไม้พันธุ์หวายจะดูดซึมน้ำสีที่เป็นสีฟ้าได้ดีกว่าสีส้มและสีเขียว  ถ้าปรีชาและปราณีจะทำการทดลองเพื่อพิสูจน์สมมติฐานดังกล่าว  ปัญหาในการทดลองของเขาควรจะเป็นข้อใด

         ก.   สีของสีผสมอาหารมีผลต่อการดูดซึมน้ำสีของกล้วยไม้หรือไม่

         ข.   ชนิดของสีผสมอาหารมีผลต่อการดูดซึมน้ำสีของกล้วยไม้หรือไม่

         ค.   ชนิดพันธุ์ของกล้วยไม้มีผลต่อการดูดซึมน้ำสีของกล้วยไม้หรือไม่

         ง.   ชนิดของสีผสมอาหารมีผลต่ออัตราการดูดซึมสีของกล้วยไม้หรือไม่

7.    สุรเดชและเพื่อนทำการทดลองนำเส้นใยธรรมชาติ  3  ชนิด  คือ  ใยผักตบชวา  ใยโสน และใยบวบ    

        มาทำเป็นไส้กรองของเครื่องดักไขมันจากน้ำทิ้ง  ข้อใดเป็นปัญหาที่นักเรียนกลุ่มนี้ต้องการหาคำตอบ

         ก.   ประสิทธิภาพของเครื่องดักไขมันขึ้นอยู่กับชนิดของเส้นใยจากธรรมชาติหรือไม่

         ข.   ประสิทธิภาพของเครื่องดักไขมันขึ้นอยู่กับใยผักตบชวา  ใยโสน และใยบวบหรือไม่

         ค.   ชนิดของเส้นใยจากธรรมชาติต่างกันประสิทธิภาพของเครื่องดักไขมันจะต่างกันหรือไม่

         ง.   ชนิดของเส้นใยจากธรรมชาติมีผลต่อประสิทธิภาพในการกรองไขมันของเครื่องดักไขมันหรือไม่

8.     ดุจดาวสังเกตเห็นว่าในถังขยะที่มีเปลือกส้มเขียวหวานอยู่นั้น  ไม่มีมดมากินเศษอาหารที่เป็นขนมหวานอยู่เลย  แต่ในถังอีกใบหนึ่งที่ไม่มีเปลือกส้มปรากฏว่ามดคันไฟจำนวนมาก  ดุจดาวจึงเกิดความสงสัยและอยากทำการทดลองพิสูจน์ว่ามดจะไม่มากินเศษขนมหวานถ้ามีเปลือกส้มเขียวหวานอยู่  ปัญหาของการทดลองของดุจดาวควรจะเป็นดังข้อใด

         ก.   สารจากเปลือกส้มเขียวหวานมีผลต่อพฤติกรรมและการป้องกันกำจัดมดคันไฟหรือไม่

         ข.   สารจากเปลือกส้มเขียวหวานขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและการป้องกันกำจัดมดคันไฟหรือไม่

         ค.   สารจากเปลือกส้มชนิดต่าง ๆ มีผลต่อพฤติกรรมและการป้องกันกำจัดมดคันไฟหรือไม่

         ง.   สารจากเปลือกส้มชนิดต่าง ๆ มีผลต่อพฤติกรรมและการป้องกันกำจัดมดชนิดต่างๆ หรือไม่

9.   ดวงเดือนทำวุ้นจากสมุนไพร  3  ชนิด  คือ  วุ้นกระชาย  วุ้นตะไคร้  และวุ้นโหระพา  จากนั้นจึงนำวุ้นไปให้กลุ่มเพื่อนในห้องจำนวน  30  คน  ชิมเพื่อหาทัศนคติที่มีต่อวุ้นสมุนไพร  ในการทำการทดลองครั้งนี้แสดงว่าดวงเดือนต้องการหาคำตอบของปัญหาใด

         ก.   ชนิดของสมุนไพรมีผลต่อรสชาติของวุ้นสมุนไพรหรือไม่

         ข.   ชนิดของสมุนไพรมีผลต่อทัศนคติของผู้บริโภคที่มีต่อวุ้นสมุนไพรหรือไม่

         ค.   ชนิดของสมุนไพรต่างกันรสชาติของวุ้นสมุนไพรจะต่างกันหรือไม่

         ง.   ชนิดของสมุนไพรขึ้นอยู่กับทัศนคติของผู้บริโภคที่มีต่อวุ้นสมุนไพรหรือไม่

10.   ภาธรนำละอองเรณูของของชบาไปเพาะในน้ำหวานที่ทำจากน้ำตาลชนิดต่าง ๆ ได้แก่  น้ำตาลทราย  น้ำตาลทรายแดง  น้ำตามปีบ  และน้ำผึ้ง  ในความเข้มข้นที่เท่าๆ กัน เพื่อศึกษาอัตราการงอกของหลอดละอองเรณู  ปัญหาในการศึกษาของภาธรคือข้อใด

         ก.   ชนิดของสารละลายน้ำตาลขึ้นอยู่กับอัตราการงอกของหลอดละอองเรณูหรือไม่

         ข.   ความเข้มข้นของสารละลายน้ำตาลมีผลต่ออัตราการงอกของหลอดละอองเรณูหรือไม่

         ค.   ชนิดของสารละลายน้ำตาลมีผลต่ออัตราการงอกของหลอดละอองเรณูหรือไม่

         ง.   ความเข้มข้นของสารละลายน้ำตาลต่างกันอัตราการงอกของหลอดละอองเรณูจะต่างกันหรือไม่

แบบฟอร์มติดต่อกลับ

คำอธิบายแบบฟอร์ม
Visitors: 70,541