ปีการศึกษา 2562

ระบบการศึกษาไทย เราสามารถแบ่งได้เป็นยุคทั้ง 4 ยุคได้ดังนี้  

            1. การศึกษา ใน ยุค Thailand 1.0 ด้วยความที่เป็นยุคที่เพิ่งเริ่มต้นวางระบบการศึกษา ทำให้ประชาชนที่มีความรู้มีจำนวนจำกัด ครูที่สอนตามโรงเรียนต่างๆ นับว่าเป็นบุคคลหนึ่งที่มีความรู้สูงในชุมชน การเรียนรู้ในโรงเรียนส่วนใหญ่จึงเน้นการบอกเล่าโดยครูผู้สอนเป็นหลัก

            2. การศึกษา ใน ยุค Thailand 2.0 เป็นยุคที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือครูผู้สอนในการจัดการเรียนการสอน มีการจัดทำสื่อการสอนส่งเสริมการเรียนรู้ต่างๆ ซึ่งทำให้ผู้เรียนมีความเข้าใจในเนื้อหาวิชามากขึ้น แต่ครูผู้สอนก็ยังเป็นหลักในการถ่ายทอดความรู้อยู่

            3. การศึกษา ใน ยุค Thailand 3.0 จากการที่มีการพัฒนาเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ทำให้ทุกคนสามารถสืบค้นข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ผ่านคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์พกพาได้มากมาย ทำให้ยุคนี้ เป็นของการสืบค้น การทำงานเป็นกลุ่ม ผู้เรียนมีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ครูเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้แนะนำ มีการใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยในการพัฒนาการเรียนการสอนมากยิ่งขึ้น แต่มีการกลั่นกรองค่อนข้างน้อย

            4. การศึกษา ใน ยุค Thailand 4.0 เป็นยุคที่ต่อเนื่องจากยุคที่แล้ว เนื่องจากการที่ผู้เรียนมีความสามารถในการใช้สื่อเทคโนโลยีที่สูงขึ้น และเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้เกิดการนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้และส่งเสริมการเรียนรู้ มีการใช้สื่อและสังคมออนไลน์ที่มีวิจารณญาณมากขึ้น สร้างมูลค่า สร้างนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการของตัวเอง ซึ่งบทบาทของครูในยุคนี้จะต้องเป็นโค้ชที่ช่วยที่ช่วยส่งเสริมองค์ความรู้ที่ผู้เรียนเกิดการจากเรียนรู้ด้วยตัวเอง

 

             การศึกษาในยุค Thailand 4.0 ถ้าตามความเห็นของ นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน ได้แสดงทัศนะไว้ว่า การศึกษาในยุค Thailand 4.0 นั้น เป็นยุคที่การศึกษาเป็นเรื่องที่มากกว่าการเตรียมความพร้อมของคนหรือให้ความรู้กับคนเท่านั้น แต่เป็นการเตรียมมนุษย์ให้เป็นมนุษย์ด้วย กล่าวคือ นอกจากให้ความรู้แล้ว จะต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนรักที่จะเรียน มีคุณธรรม สามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างเหมาะสม ซึ่งในการก้าวสู่การศึกษาในยุค Thailand 4.0 นั้น กระทรวงศึกษาธิการได้วางแนวทางปฏิรูปการศึกษา เพื่อตอบสนองการพัฒนาไว้ดังนี้

            1. พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ เพื่อช่วยในการเพิ่มศักยภาพในการติดต่อสื่อสารกับต่างประเทศ

            2. ส่งเสริมการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์

            3. พัฒนาทักษะและกระบวนการคิดวิเคราะห์ให้ผู้เรียน

            4. การปรับหลักสูตรการเรียนการสอน ให้ทันสมัยสอดคล้องกับโลกยุคใหม่

            5. พัฒนาปรับปรุงตำราเรียนให้มีมาตรฐาน 5 ดาว

            6. บริหารจัดการคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กอย่างเหมาะสม

            7. พัฒนาบทบาทของครูจากผู้สอนเป็นโค้ช

            8. การบริหารจัดการคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก ภายใต้โครงการโรงเรียนดีใกล้บ้าน

จากทั้งหมดนี้ ถ้าเราวิเคราะห์จากแนวทางปฏิรูปของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว  สามารถสร้างสรรค์การศึกษาในยุคไทยแลนด์ 4.0 ได้โดยใช้แนวคิดด้วยต่อไปนี้

            1. ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนโดยใช้สองภาษา

ทุกวันนี้ ภาษาอังกฤษเข้ามามีบทบาทอย่างมาก การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ ที่มีความสอดคล้องกันทั้งสองภาษา จะทำให้ผู้เรียนใช้ภาษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และเคยชินกับการใช้ภาษามาขึ้น มีความกล้าที่จะใช้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาของผู้เรียน เพราะภาษา โดยเฉพาะภาษาต่างประเทศจะช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้มากขึ้น ทำให้มีโลกทัศน์กว้างขึ้น

            2. ใช้ STEM เข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี

การเรียนรู้แบบ STEM คือการนำเอาศาสตร์ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และ คณิตศาสตร์ (Mathematics) มาบูรณาการรวมกันเพื่อแก้ไขปัญหาหรือสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ขึ้นมาตามโจทย์ที่ผู้เรียนสนใจ ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยให้ผู้เรียนรู้จักคิดวิเคราะห์ และใช้ศาสตร์ความรู้ทั้ง 4 ด้าน มาประยุกต์ใช้ให้ได้องค์ความรู้หรือนวัตกรรมใหม่ ซึ่งนับว่าเป็นหัวใจหลักของการศึกษาในยุค Thailand 4.0

            3. ส่งเสริมทักษะ EF ในการพัฒนาทักษะการดำเนินชีวิต

EF (Executive Functions) เป็นกระบวนการทางความคิด ในสมองส่วนหน้า ที่เกี่ยวข้องกับการคิด ความรู้สึก และการกระทำ เช่น การยั้งใจคิดไตร่ตรอง การควบคุมอารมณ์ การยืดหยุ่นทางความคิด และการตั้งเป้าหมาย รวมถึงการจัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่างๆ ซึ่งนับว่าเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างมากในโลกยุคปัจจุบัน

            4. การเรียนรู้แบบโครงการส่งเสริมกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ

การเรียนรู้แบบโครงการ จะช่วยให้ผู้เรียนกำหนดปัญหา สมมติฐาน ได้ร่วมมือกันวางแผนและใช้ความคิดอย่างเป็นระบบตามหลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดองค์ความรู้จากข้อสรุปต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และนำไปสู่การนำเสนอโครงการที่สร้างสรรค์

            5. ใช้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการจัดการเรียนการสอน

เน้นให้ผู้เรียนใช้เทคโนโลยีอย่างมีวิจารณญาณและเกิดประโยชน์ ส่งเสริมการเรียนการสอนและมุ่งหมายให้ผู้เรียนเกิดองค์ความรู้ได้ด้วยตัวเอง

            6. เน้นการก้าวสู่ขั้นของกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning

กระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning คือ กระบวนการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียน เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ โดยมีครูคอยเป็นโค้ชให้มากกว่าจะถ่ายทอดความรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นขั้นที่ทำให้ผู้เรียนมีความคงทนในความรู้ได้ถึงกว่า 100% เพราะเป็นขั้นของการเรียนรู้ที่ผู้เรียนนั้นเกิดองค์ความรู้ได้ด้วยตัวเองจากการกระทำต่างๆ ซึ่งองค์ความรู้ที่ผู้เรียนได้นี้เองจะทำให้ผู้เรียนเกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรม

ที่มา  https://www.trueplookpanya.com/blog/content/71421 

Visitors: 70,440